ในการจัดการเรียนการสอน ผู้สอนสามารถจัดกิจกรรมการเรียนการสอนได้หลากหลายวิธีและสามารถเลือกใช้ได้ตามความเหมาะสมกับผู้เรียน กับแต่ละสถานการณ์ และแต่ละสิ่งแวดล้อม การสอนแบบบรรยายอย่างเดียวไม่เพียงพอ ครูผู้สอนต้องใช้วิธีสอน เทคนิคการสอนที่หลากหลายเข้ามาใช้บูรณาการในการจัดการเรียนการสอน ซึ่งวิธีการสอนต่างๆ มีตัวอย่างดังนี้
1. วิธีสอนแบบสาธิต (Demonstration Method)
ความหมาย
วิธีสอนแบบสาธิต หมายถึง การที่ครูหรือนักเรียนคนใดคนหนึ่ง แสดงบางสิ่งบางอย่างให้นักเรียนดู หรือให้เพื่อนๆดู อาจเป็นการแสดงการใช้เครื่องมือแสดงให้เห็นกระบวนการวิธีการ กลวิธีหรือการทดลองที่มีอันตราย ซึ่งไม่เหมาะที่จะให้นักเรียนทำการทดลอง การสอนวิธีนี้ช่วยให้นักเรียนเกิดความรู้ความเข้าใจและสามารถทำในสิ่งนั้นได้ถูกต้อง และยังเป็นการสอนให้นักเรียนได้ใช้ทักษะในการสังเกต และถือว่าเป็นการได้ประสบการณ์ตรงวิธีหนึ่ง วิธีสอนแบบสาธิต จึงเป็นการสอนที่ยึดผู้สอนเป็นศูนย์กลาง เพราะผู้สอนเป็นผู้วางแผน ดำเนินการ และลงมือปฏิบัติ ผู้เรียนอาจมีส่วนร่วมบ้างเล็กน้อย วิธีสอนแบบนี้จึงเหมาะสำหรับ จุดประสงค์การสอนที่ต้องการให้ผู้เรียนเห็นขั้นตอนการปฏิบัติ เช่น วิชาพลศึกษา ศิลปศึกษา อุตสาหกรรมศิลป์ วิชาในกลุ่มการงานและพื้นฐานอาชีพ เป็นต้น
ความมุ่งหมาย
เพื่อแสดงให้ผู้เรียนได้เห็นขั้นตอนการปฏิบัติต่างๆ ซึ่งจะช่วยให้ผู้เรียนเกิดความเข้าใจได้อย่างแจ่มแจ้ง และสามารถปฏิบัติตามได้
เมื่อใดจึงจะใช้การสอนแบบสาธิต
1. เมื่อนำเข้าสู่บทเรียน ผู้สอนสาธิตให้ผู้ดูเพื่อให้ผู้เรียนตั้งปัญหาและเกิดความอยากรู้
อยากเห็น อยากค้นหาคำตอบต่อไป
2. เพื่อสร้างปัญหาให้ผู้เรียนคิด
3. เพื่อต้องการสร้างความเข้าใจในความคิดรวบยอด ความจริงหลักทฤษฎี โดยนักเรียน
สามารถมองเห็นโดยตรง
4. เมื่ออธิบายเครื่องมือวิทยาศาสตร์ส่วนไหนทำหน้าที่อะไร
5. เมื่อเครื่องมือที่จะทำการทดลองมีราคาแพง หรือเกิดอันตรายได้ง่าย
6. ควรคำนึงถึงฤดูกาล
โอการในการใช้
- เพื่อกระตุ้นความสนใจของนักเรียนให้มีความสนใจในบทเรียน
- ช่วยอธิบายเนื้อหาวิชาที่ยาก ต้องใช้เวลานานให้เข้าใจง่ายขึ้นและประหยัดเวลา
- เพื่อแสดงวิธีการหรือกลไกวิธีในการปฏิบัติงานซึ่งไม่สามารถอธิบายได้ด้วยคำพูด เช่น การทำกิจกรรม วิชาศิลปะ หัตถกรรม งานประดิษฐ์ นาฏศิลป์
- เพื่อช่วยสรุปบทเรียน
- เพื่อใช้ทบทวนบทเรียน
- เพื่อสร้างความเข้าใจ ความคิดรวบยอด ความจริง หลักทฤษฎี โดยนักเรียนมองเห็นได้โดยตรง เพื่อทดสอบหรือยืนยันการสังเกตในครั้งก่อนๆ ว่าผลเหมือนเดิมหรือไม่
ประเภทของการสาธิต
แบบที่ 1
1. สาธิตให้ดูทั้งชั้น การสาธิตให้ดูทั้งชั้นผู้สอนจะต้องระวังให้ทุกคนมองเห็นและเข้าใจการสาธิตในแต่ละครั้ง อย่างไรก็ตามการสาธิตให้ดูทั้งชั้นย่อมมีผู้เรียนบางคนไม่เข้าใจดีพอเนื่องจากบางคนมีพื้นความรู้หรือประสบการณ์แตกต่างกัน
2. การสาธิตให้ดูเป็นกลุ่มหรือเป็นหมู่ เมื่อมีผู้เรียนจำนวนหนึ่ง เรียนไม่เข้าใจดีพอ จึงจำเป็นต้องสาธิตให้ดูใหม่เป็นกลุ่มเล็ก ในแต่ละชั้นเรียนอาจมีผู้เรียนได้เร็วมาก ปานกลางหรือช้าไปบ้าง การสาธิตให้ดูเป็นหมู่ เฉพาะที่มีความรู้ไล่เลี่ยกันจะเป็นแรงจูงใจให้ผู้เรียนแต่ละหมู่ทำงานอย่างเต็มความสามารถของตน
3. การสาธิตให้ดูเป็นรายบุคคล เมื่อผู้สอนสาธิตให้ดูเป็นหมู่ เป็นกลุ่มแต่ผู้เรียนบางคนไม่อาจจะเข้าใจการสาธิตทั้งชั้นหรือเป็นกลุ่มได้ หรือผู้เรียนบางคนไม่ได้เข้าร่วม ผู้สอนจึงต้องสาธิตให้ดูเป็นรายบุคคล
แบบที่ 2
1. ครูแสดงการสาธิตคนเดียว ( Teacher- Demonstration)
2. ครูและนักเรียนช่วยกันแสดงสาธิต (Teacher-Student- Demonstration )
3. กลุ่มนักเรียนล้วนเป็นผู้สาธิต (Student Group Demonstration )
4. นักเรียนคนเดียวเป็นผู้สาธิต (Individual Student Demonstration )
5. วิทยากรเป็นผู้สาธิต ( Guest Demonstration )
ขั้นตอนการสอน
1. ขั้นเตรียมการสอน
– กำหนดจุดประสงค์ในการสาธิตให้ชัดเจน
– จัดลำดับเนื้อหาตามขั้นตอนให้เหมาะสม
– เตรียมกิจกรรมการเรียนการสอน สิ่งที่จะให้นักเรียนปฏิบัติ ตลอดจนคำถามที่จะใช้ให้รอบคอบ
– เตรียมสื่อการเรียนการสอนและเอกสารประกอบให้พร้อม
– กำหนดเวลาในการสาธิตให้พอเหมาะ
– กำหนดวิธีการวัดผลประเมินผลที่ชัดเจน
– เตรียมสภาพห้องเรียนให้เหมาะสมเพื่อให้นักเรียนมองเห็นการสาธิตให้ทั่วถึง
– ทดลองสาธิตเพื่อให้แน่ใจว่าไม่เกิดการติดขัด
2. ขั้นตอนการสาธิต
– บอกจุดประสงค์การสาธิตให้นักเรียนทราบ
– บอกกิจกรรมที่นักเรียนจะต้องปฏิบัติ เช่น นักเรียนจะต้องจดบันทึก สังเกตกระบวนการ สรุปขั้นตอน ตอบคำถาม เป็นต้น
– ดำเนินการสาธิตตามลำดับขั้นตอนที่เตรียมไว้ ประกอบกับอธิบายตัวอย่างชัดเจน
3. ขั้นสรุปและประเมินผล
– ผู้สอนเป็นผู้สรุปความสำคัญ ขั้นตอนของสิ่งที่สาธิตนั้นด้วยตนเอง
– ให้ผู้เรียนเป็นผู้สรุป เพื่อประเมินว่าผู้เรียนมีความเข้าใจในบทเรียนนั้นๆมากน้องเพียงใด
– ผู้สอนอาจใช้วิธีการต่างๆ เพื่อประเมินว่าผู้เรียนเข้าใจเนื้อเรื่อง ขั้นตอนการสาธิตมากน้อยเพียงใด เช่น ให้ตอบคำถาม ให้เขียนรายงาน ให้แสดงสาธิตให้ดู ฯลฯ
– ผู้สอนควรเปิดโอกาสให้ผู้เรียนได้ซักถามหรือแสดงความคิดเห็นภายหลังจากการสาธิตแล้ว
2. วิธีการสอนโดยใช้การแสดงละคร (Dramatization)
วัตถุประสงค์
1. เพื่อให้ผู้เรียนเห็นภาพเรื่องราวที่ชัดเจน และสามารถจดจำเรื่องราวได้นาน
2. เพื่อนนักเรียนได้มีส่วนร่วมในการจัดการเรียนการสอน และฝึกทักษะต่าง ๆ
1. ผู้สอน / ผู้เรียนเตรียมบทละคร ผู้สอนและผู้เรียนควรอภิปรายวัตถุประสงค์ในการเลือกใช้ละครเป็นวิธีการเพื่อให้เกิดการเรียนรู้ นักเรียนควรจะมีส่วนในการเลือกเรื่องราวที่จะแสดง ในการเตรียมบทละครผู้สอนอาจเตรียมให้หรือผู้เรียนเตรียมกันเอง แต่ต้องมีการศึกษาเนื้อหาหรือเรื่องราวให้เข้าใจ ได้เนื้อหาที่ครบถ้วนสมบูรณ์ให้มากที่สุด
2. ผู้เรียนศึกษาบทละครและเลือกบทบาทที่จะแสดง ในการเลือกละคร ควรคำนึงถึงความเหมาะสมกับความสามารถของผู้เรียนกับบทที่จะแสดง แต่ในบางกรณีผู้สอนอาจเลือกผู้เรียนที่มีบุคลิกภาพไม่ตรงกับบทที่จะแสดงเพื่อให้นักเรียนได้รับประสบการณ์ในการแสดง แต่ผู้แสดงควรมีความเต็มใจที่จะแสดง เพื่อให้การแสดงออกมาดีที่สุด
3. ผู้เรียนซ้อมการแสดง ในการซ้อมการแสดงต้องมีการฝึกซ้อมการแสดงร่วมกัน และในบางกรณีอาจจำเป็นจะต้องเปลี่ยนตัวผู้แสดงคนใหม่ เพื่อให้การแสดงสมบทบาทและสื่อความหมายได้ถูกต้อง ส่วนผู้เรียนที่ไม่ได้มีส่วนร่วมในการแสดง ผู้สอนจะต้องแนะนำในการชมการแสดงว่า ควรสังเกตและให้ความสนใจที่เรื่องอะไรบ้าง จุดไหนบ้าง
4. ผู้เรียนแสดงและชมการแสดง ในขณะแสดง ผู้สวนและผู้ชมไม่ควรขัดการแสดงกลางคัน และควรให้กำลังใจผู้แสดง ผู้ชมควรตั้งใจสังเกตการแสดงในเรื่องราวที่สำคัญที่ผู้สอนได้แนะนำ
5. อภิปรายการแสดง ในการอภิปรายต้องมุ่งไปที่เรื่องราวที่แสดงออกมา และการแสดงของผู้แสดงว่า สามารถแสดงได้สมจริงเพียงใด
ข้อดี
1. ทำให้ผู้เรียนได้มีประสบการณ์จริง
2. ผู้เรียนมีส่วนร่วมในการจัดการเรียนการสอน
3. นักเรียนได้ฝึกทักษะต่าง ๆ เช่น ทักษะการพูด การเขียน การแสดงออก การจัดการ การแสวงหาความรู้ และการทำงานเป็นกลุ่มเป็นต้น
ข้อจำกัด
1. ใช้เวลาในการจัดกิจกรรมมาก
2. มีค่าใช้จ่ายในการจัดกิจกรรม
3. ต้องอาศัยความชำนาญในการเขียนบท
3. วิธีการสอนโดยใช้บทบาทสมมติ (Role Playing)
เป็นกระบวนการที่ช่วยให้ผู้เรียนเกิดการเรียนรู้ตามวัตถุประสงค์ โดยการให้ผู้เรียนสวมบทบาทในสถานการณ์ซึ่งมีความใกล้เคียงกับความเป็นจริง และแสดงออกตามความรู้สึกนึกคิดของตนและนำเอาการแสดงออกของผู้แสดง ทั้งทางด้านความรู้ ความคิด ความรู้สึก และพฤติกรรมที่สังเกตพบ มาเป็นข้อมูลในการอภิปราย เพื่อให้ผู้เรียนเกิดการเรียนรู้ตามวัตถุประสงค์ (ทิศนา แขมมณี , 2543)
วัตถุประสงค์
1. เพื่อให้ผู้เรียนเกิดความเข้าใจในเรื่องต่าง ๆ เกี่ยวกับบทบาทสมมติที่ตนแสดง
2. เพื่อนนักเรียนได้มีส่วนร่วมในการจัดการเรียนการสอน และฝึกทักษะต่าง ๆ
1. ผู้สอน / ผู้เรียนนำเสนอสถานการณ์สมมติและบทบาทสมมติ บทบาทสมมติที่กำหนดขึ้นควรมีความใกล้เคียงกับความเป็นจริง ไม่มีบทให้ ผู้สวมบทบาทจะต้องคิดแสดงเอง หรืออาจให้บทบาทสมมติแบบแก้ปัญหาซึ่งจะกำหนดสถานการณ์ที่มีปัญหาหรือความขัดแย้งให้ และผู้สวมบทบาทแก้ปัญหาตามความคิดของตน
2. ผู้สอน / ผู้เรียนเลือกผู้แสดงบทบาท ในการเลือกผู้แสดง ควรคำนึงถึงความเหมาะสมกับความสามารถของผู้เรียนกับบทที่จะแสดง แต่ในบางกรณีผู้สอนอาจเลือกผู้เรียนที่มีบุคลิกภาพไม่ตรงกับบทที่จะแสดงเพื่อให้นักเรียนได้รับประสบการณ์ในการแสดง แต่ผู้แสดงควรมีความเต็มใจที่จะแสดง เพื่อให้การแสดงออกมาดีที่สุด
3. ผู้สอนเตรียมผู้สังเกตการณ์หรือผู้ชม ผู้สอนควรแนะนำการชมว่า ควรสังเกตอะไร และควรบันทึกข้อมูลอย่างไร หรือผู้สอนอาจจัดทำแบบสังเกตการณ์ให้ผู้ชมใช้ในการสังเกตด้วยก็ได้
4. ผู้เรียนแสดงบทบาท ผู้ชมและผู้สอนสังเกตพฤติกรรมที่แสดงออก
5. ผู้เรียนและผู้สอนอภิปรายร่วมกัน เกี่ยวกับความรู้ ความคิด ความรู้สึก และพฤติกรรมที่แสดงออกของผู้แสดง
ข้อดีและข้อจำกัด
ข้อดี
1. ผู้เรียนเกิดความเข้าใจความรู้สึกและพฤติกรรมของผู้อื่น
2. ผู้เรียนเกิดการเปลี่ยนแปลงเจตคติและพฤติกรรมของตน
3. พัฒนาทักษะในการเผชิญสถานการณ์ ตัดสินใจและแก้ปัญหา
4. เปิดโอกาสให้ผู้เรียนมีส่วนร่วมในการเรียนมาก
ข้อจำกัด
1. ใช้เวลาในการจัดกิจกรรมมาก
2. ต้องอาศัยความสามารถของผู้สอนในการแก้ปัญหาเนื่องจากการแสดงของผู้เรียนอาจไม่เป็นไปตามความคาดหมายของผู้สอน ผู้สอนจะต้องสามารถแก้ปัญหาหรือปรับสถานการณ์และประเด็นให้ผู้เรียนเกิดการเรียนรู้ได้
4. วิธีการสอนโดยใช้กรณีตัวอย่าง (Case)
คือ กระบวนการที่ช่วยให้ผู้เรียนเกิดการเรียนรู้ตามวัตถุประสงค์ โดยการให้ผู้เรียนศึกษาเรื่องที่สมมติขึ้นจากความเป็นจริง และตอบประเด็นคำถามเกี่ยวกับเรื่องนั้น แล้วนำคำตอบและเหตุผลที่มาของคำตอบนั้นมาใช้เป็นข้อมูลในการอภิปราย เพื่อให้ผู้เรียนเกิดการเรียนรู้ (ทิศนา แขมมณี , 2543)
วัตถุประสงค์
1. เพื่อเปิดโอกาสให้ผู้เรียนคิดวิเคราะห์และเรียนรู้ความคิดของผู้อื่น
2. ช่วยให้ผู้เรียนมีมุมมองที่กว้างขึ้น
1. ผู้สอน / ผู้เรียนนำเสนอกรณีตัวอย่าง กรณีตัวอย่างส่วนใหญ่มักเป็นเรื่องราวที่มีสถานการณ์เป็นปัญหาขัดแย้ง ผู้สอนอาจใช้วิธีการตั้งประเด็นคำถามที่ท้าทายให้ผู้เรียนคิดก็ได้ ใช้เรื่องจริงหรือเรื่องจากหนังสือพิมพ์ รวมทั้งสื่อต่าง ๆ ผู้สอนต้องเตรียมประเด็นคำถามสำหรับการอภิปรายเพื่อนำไปสู่การเรียนรู้ที่ต้องการ ในการเสนอทำได้หลายวิธี เช่น การพิมพ์เป็นข้อมูลมาให้ผู้เรียนอ่าน การเล่ากรณีตัวอย่างให้ฟัง หรือนำเสนอโดยใช้สื่ออื่น
2. ผู้เรียนศึกษากรณีตัวอย่าง ผู้สอนควรแบ่งกลุ่มย่อยในการศึกษากรณีตัวอย่าง ไม่ควรให้ผู้เรียนตอบประเด็นคำถามทันที
3. ผู้เรียนอภิปรายประเด็นคำถามเพื่อหาคำตอบ ผู้เรียนแต่ละคนควรมีคำตอบของตนเตรียมไว้ก่อน แล้วจึงร่วมกันอภิปรายเป็นกลุ่ม และนำเสนอผลการอภิปรายระหว่างกลุ่ม
4. ผู้สอนและผู้เรียนอภิปรายคำตอบ นำเสนอผลการอภิปรายระหว่างกลุ่ม คำถามสำหรับการอภิปรายนี้ ไม่มีคำตอบที่ถูกหรือผิดอย่างชัดเจนแน่นอน แต่ต้องการให้ผู้เรียนเห็นคำตอบและเหตุผลที่หลากหลาย ทำให้ผู้เรียนมีมุมมองที่กว้างขึ้น ช่วยให้การตัดสินใจมีความรอบคอบขึ้น การอภิปรายควรมุ่งความสนใจไปที่เหตุผลหรือที่มาของความคิดที่ผู้เรียนใช้ในการแก้ปัญหาเป็นสำคัญ
5. ผู้สอนและผู้เรียนอภิปรายเกี่ยวกับปัญหาของผู้เรียน และสรุปการเรียนรู้ที่ได้รับ
ข้อดี
1. ผู้เรียนได้พัฒนาทักษะการคิดวิเคราะห์ การคิดอย่างมีวิจารณญาณ และคิดแก้ปัญหา
2. ผู้เรียนมีมุมมองที่กว้างขึ้น
3. ช่วยให้เกิดความพร้อมที่จะแก้ปัญหาเมือเผชิญปัญหานั้นในสถานการณ์จริง
ข้อจำกัด
1. แม้ปัญหาและสถานการณ์จะใกล้เคียงกับความเป็นจริง แต่ก็ไม่ได้เกิดขึ้นจริง ๆ กับผู้เรียน ความคิดในการแก้ปัญหาจึงมักเป็นไปตามเหตุผลที่ถูกที่ควรซึ่งอาจไม่ตรงกับการปฏิบัติจริงได้
5. วิธีการสอนโดยใช้เกม (Game)
คือ กระบวนการที่ช่วยให้ผู้เรียนเกิดการเรียนรู้ตามวัตถุประสงค์ โดยการให้ผู้เรียนเล่นเกมตามกติกา และนำเนื้อหาและข้อมูลของเกม พฤติกรรมการเล่น วิธีการเล่น และผลการเล่นเกมของผู้เรียนมาใช้ในการอภิปรายเพื่อสรุปการเรียนรู้ (ทิศนา แขมมณี, 2543)
วัตถุประสงค์
1. ช่วยให้ผู้เรียนได้เรียนรู้เรื่องต่าง ๆ อย่างสนุกสนานและท้าทายความสามารถ
2. ทำให้เกิดประสบการณ์ตรง
3. เป็นวิธีที่เปิดโอกาสให้ผู้เรียนมีส่วนร่วมสูง
1. ผู้สอนนำเสนอเกม ชี้แจงวิธีการเล่น และกติกาการเล่นเกม เกมที่ได้รับการออกแบบให้เป็นเกมการศึกษาโดยตรงมีอยู่ด้วยกัน 3 ประเภท คือ 1) เกมแบบไม่มีการแข่งขัน 2) เกมแบบแข่งขัน 3) เกมจำลองสถานการณ์ การเลือกเกมเพื่อนำมาใช้สอนทำได้หลายวิธีผู้สอนอาจเป็นผู้สร้างเกมขึ้น หรืออาจนำเกมที่มีผู้สร้างขึ้นแล้วมาปรับดัดแปลงให้เหมาะสมกับวัตถุประสงค์ และควรชี้แจงกติกาการเล่นเกมให้เข้าใจ
2. ผู้เรียนเล่นเกมตามกติกา ผู้สอนควรติดตามสังเกตพฤติกรรมการเล่นของผู้เรียนอย่างใกล้ชิด และควรบันทึกข้อมูลที่จะเป็นประโยชน์ต่อการเรียนของผู้เรียน
3. ผู้สอนและผู้เรียนอภิปรายผล ควรอภิปรายผลเกี่ยวกับผลการเล่น และวิธีการหรือพฤติกรรมการเล่นของผู้เรียนที่ได้จากการสังเกตจดบันทึกไว้ และในการอภิปรายผลควรให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ การใช้เกมในการสอนโดยทั่ว ๆ ไป มีวัตถุประสงค์เพื่อ 1) ฝึกฝนเทคนิคหรือทักษะต่าง ๆ 2) เรียนรู้เนื้อหาสาระจากเกม
3) เรียนรู้ความเป็นจริงตามสถานการณ์ต่าง ๆ ดังนั้นการอภิปรายควรมุ่งประเด็นไปตามวัตถุประสงค์ของ การสอน
ข้อดีและข้อจำกัด
ข้อดี
1. ผู้เรียนมีส่วนร่วมในการเรียนรู้สูง
2. ผู้เรียนได้รับความสนุกสนาน และเกิดการเรียนรู้จากการเล่น
ข้อจำกัด
1. เป็นวิธีการสอนที่ผู้สอนต้องมีทักษะในการนำการอภิปรายที่มีประสิทธิภาพ จึงจะสามารถช่วยให้ผู้เรียนประมวลและสรุปการเรียนรู้ได้ตามวัตถุประสงค์
6. วิธีการสอนโดยใช้สถานการณ์จำลอง (Simulation)
กระบวนการที่ช่วยให้ผู้เรียนเกิดการเรียนรู้ตามวัตถุประสงค์ โดยการให้ผู้เรียนลงไปเล่นในสถานการณ์ที่มีบทบาท ข้อมูล และกติกาการเล่น ที่สะท้อนความเป็นจริง และมีปฏิสัมพันธ์กับสิ่งต่าง ๆ ที่อยู่ในสถานการณ์นั้น โดยข้อมูลที่มีสภาพคล้ายกับข้อมูลในความเป็นจริง ในการตัดสินใจและแก้ปัญหาต่าง ๆ ซึ่งการตัดสินใจนั้นจะส่งผลถึงผู้เล่นในลักษณะเดียวกันกับที่เกิดขึ้นในสถานการณ์จริง (ทิศนา แขมมณี, 2543)
วัตถุประสงค์
1. ช่วยให้ผู้เรียนได้รู้สภาพความเป็นจริง เกิดความเข้าใจในสถานการณ์
1. ผู้สอนเตรียมสถานการณ์จำลอง สถานการณ์จำลองโดยทั่วไปมีอยู่ 2 ลักษณะ คือ 1) สถานการณ์จำลองแท้ จะเป็นสถานการณ์การเล่นที่ให้ผู้เรียนได้เล่น เพื่อเรียนรู้จริง 2) สถานการณ์จำลองแบบเกม มีลักษณะเป็นเกมการเล่น แต่เกมการเล่นนี้มีลักษณะที่สะท้อนความเป็นจริง ในขณะที่เกมธรรมดาทั่ว ๆ ไป อาจจะไม่ได้สะท้อนความเป็นจริงอะไร
2. ผู้สอนนำเสนอสถานการณ์จำลอง บทบาท ข้อมูล และกติกาการเล่น ในการนำเสนอ ผู้สอนควรเริ่มด้วยการบอกเหตุผลและวัตถุประสงค์กว้าง ๆ แก่ผู้เรียนว่า การเล่นในสถานการณ์จำลองนี้จะให้อะไรและเหตุใดจึงมาเล่นกัน ต่อไปจึงให้ภาพรวมทั้งของสถานการณ์จำลองทั้งหมด แล้วจึงให้รายละเอียดที่จำเป็น
3. ผู้เรียนเลือกบทบาทที่จะเล่นหรือผู้สอนกำหนดบทบาทให้ ผู้เรียนทุกคนควรได้รับบทบาทในการเล่น ซึ่งผู้เรียนอาจะเป็นผู้เลือกเองหรือผู้สอนกำหนดบทบาทให้ผู้เรียนบางคน ซึ่งจะช่วยให้เกิดการเรียนรู้ตรงตามความต้องการ
4. ผู้เรียนเล่นตามกติกาที่กำหนด ในขณะที่ผู้เรียนกำลังเล่นผู้สอนควรติดตามพฤติกรรมอย่างใกล้ชิดและคอยให้คำปรึกษาตามความจำเป็น
5. ผู้สอนและผู้เรียนร่วมกันอภิปราย ควรมุ่งไปประเด็นไปที่การเรียนรู้ความเป็นจริง อะไรเป็นปัจจัยที่มีอิทธิพล ผู้เรียนควรได้เรียนรู้จากการเล่นของตน
6. ผู้สอนและผู้เรียนสรุปการเรียนรู้ที่ได้รับจากการเล่น
ข้อดี
1. ผู้เรียนได้เรียนรู้เรื่องที่มีความซับซ้อน อย่างเข้าใจเนื่องจากได้มีประสบการณ์ด้วยตัวเอง
2. ผู้เรียนมีส่วนร่วมในการเรียนสูง
3. ผู้เรียนมีโอกาสฝึกทักษะกระบวนการต่าง ๆ จำนวนมาก
ข้อจำกัด
1. ใช้ค่าใช้จ่ายสูง และใช้เวลามาก
2. ผู้สอนต้องอาศัยการเตรียมการมาก
3. ถ้าไม่มีสถานการณ์จำลองต้องสร้างสถานการณ์ขึ้นมาเอง
7. วิธีการสอนมโนทัศน์ (Concept Attainment Model)
1. ทฤษฎี/หลักการ/แนวคิดของรูปแบบ
จอยส์และวีล(Joyce & Weil, 1996: 161-178) พัฒนารูปแบบนี้ขึ้นโดยใช้แนวคิดของบรุนเนอร์ กู๊ดนาว และออสติน (Bruner, Goodnow, และ Austin) การเรียนรู้มโนทัศน์ของสิ่งใดสิ่งหนึ่งนั้น สามารถทำได้โดยการค้นหาคุณสมบัติเฉพาะที่สำคัญของสิ่งนั้น เพื่อใช้เป็นเกณฑ์ในการจำแนกสิ่งที่ใช่และไม่ใช่สิ่งนั้นออกจากกันได้
2. วัตถุประสงค์ของรูปแบบ
เพื่อช่วยให้ผู้เรียนเกิดการเรียนรู้มโนทัศน์ของเนื้อหาสาระต่าง ๆ อย่างเข้าใจ และสามารถให้คำนิยามของมโนทัศน์นั้นด้วยตนเอง
3. กระบวนการเรียนการสอนของรูปแบบ
ขั้น ที่ 1 ผู้สอนเตรียมข้อมูลสำหรับให้ผู้เรียนฝึกหัดจำแนก
ผู้สอนเตรียมข้อมูล 2 ชุด ชุดหนึ่งเป็นตัวอย่างของมโนทัศน์ที่ต้องการสอน
อีกชุดหนึ่งไม่ใช่ตัวอย่างของมโนทัศน์ที่ต้องการสอน
ในการเลือกตัวอย่างข้อมูล 2 ชุดข้างต้น ผู้สอนจะต้องเลือกหาตัวอย่างที่มีจำนวน
มากพอที่จะครอบคลุมลักษณะของมโนทัศน์ที่ต้องการนั้น
ถ้ามโนทัศน์ที่ต้องการสอนเป็นเรื่องยากและซับซ้อนหรือเป็นนามธรรม อาจใช้
วิธีการยกเป็นตัวอย่างเรื่องสั้น ๆ ที่ผู้สอนแต่งขึ้นเองนำเสนอแก่ผู้เรียน
ผู้สอนเตรียมสื่อการสอนที่เหมาะสมจะใช้นำเสนอตัวอย่างมโนทัศน์เพื่อแสดง
ให้เห็นลักษณะต่าง ๆ ของมโนทัศน์ที่ต้องการสอนอย่างชัดเจน
ขั้นที่ 2 ผู้สอนอธิบายกติกาในการเรียนให้ผู้เรียนรู้และเข้าใจตรงกัน
ผู้สอนชี้แจงวิธีการเรียนรู้ให้ผู้เรียนเข้าใจก่อนเริ่มกิจกรรมโดยอาจสาธิตวิธีการและให้ผู้เรียนลองทำตามที่ผู้สอนบอกจนกระทั่งผู้เรียนเกิดความเข้าใจพอสมควร
ขั้นที่ 3 ผู้สอนเสนอข้อมูลตัวอย่างของมโนทัศน์ที่ต้องการสอน และข้อมูลที่ไม่ใช่ตัวอย่างของมโนทัศน์ที่ต้องการสอน
การนำเสนอข้อมูลตัวอย่างนี้ทำได้หลายแบบ แต่ละแบบมีจุดเด่น- จุดด้อย ดังต่อไปนี้
1) นำเสนอข้อมูลที่เป็นตัวอย่างของสิ่งที่จะสอนทีละข้อมูลจนหมดทั้งชุด โดย
บอกให้ผู้เรียนรู้ว่าเป็นตัวอย่างของสิ่งที่จะสอนแล้วตามด้วยข้อมูลที่ไม่ใช่ตัวอย่างของสิ่งที่จะสอนทีละข้อมูลจนครบหมดทั้งชุดเช่นกัน โดยบอกให้ผู้เรียนรู้ว่าข้อมูลชุดหลังนี้ไม่ใช่สิ่งที่จะสอน ผู้เรียนจะต้องสังเกตตัวอย่างทั้ง 2 ชุด และคิดหาคุณสมบัติร่วมและคุณสมบัติที่แตกต่างกัน เทคนิควิธีนี้สามารถช่วยให้ผู้เรียนสร้างมโนทัศน์ได้เร็วแต่ใช้กระบวนการคิดน้อย
2) เสนอข้อมูลที่ใช่และไม่ใช่ตัวอย่างของสิ่งที่จะสอนสลับกันไปจนครบ
เทคนิควิธีนี้ช่วยสร้างมโนทัศน์ได้ช้ากว่าเทคนิคแรก แต่ได้ใช้กระบวนการคิดมากกว่า
3) เสนอข้อมูลที่ใช่และไม่ใช่ตัวอย่างของสิ่งที่จะสอนอย่างละ 1 ข้อมูล แล้วเสนอข้อมูลที่เหลือทั้งหมดทีละข้อมูลโดยให้ผู้เรียนตอบว่าข้อมูลแต่ละข้อมูลที่เหลือนั้นใช่หรือไม่ใช่ตัวอย่างที่จะสอน เมื่อผู้เรียนตอบ ผู้สอนจะเฉลยว่าถูกหรือผิด วิธีนี้ผู้เรียนจะได้ใช้กระบวนการคิดในการทดสอบสมมติฐานของตนไปทีละขั้นตอน.
4) เสนอข้อมูลที่ใช่และไม่ใช่ตัวอย่างสิ่งที่จะสอนอย่างละ 1 ข้อมูล แล้วให้ผู้เรียนช่วยกันยกตัวอย่างข้อมูลที่ผู้เรียนคิดว่าใช่ตัวอย่างของสิ่งที่จะสอน โดยผู้สอนจะเป็นผู้ตอบว่าใช่หรือไม่ใช่ วิธีนี้ผู้เรียนจะมีโอกาสคิดมากขึ้นอีก
ขั้นที่ 4 ให้ผู้เรียนบอกคุณสมบัติเฉพาะของสิ่งที่ต้องการสอน
จากกิจกรรมที่ผ่านมาในขั้นต้น ๆ ผู้เรียนจะต้องพยามหาคุณสมบัติเฉพาะของตัวอย่างที่ใช่และไม่ใช่สิ่งที่ผู้เรียนต้องการสอนและทดสอบคำตอบของตน หากคำตอบของตนผิดผู้เรียนก็จะต้องหาคำตอบใหม่ซึ่งก็หมายความว่าต้องเปลี่ยนสมมติฐานที่เป็นฐานของคำตอบเดิม ด้วยวิธีนี้ผู้เรียนจะค่อย ๆ สร้างความคิดรวบยอดของสิ่งนั้นขึ้นมา ซึ่งก็จะมาจากคุณสมบัติเฉพาะของสิ่งนั้นนั่นเอง
ขั้นที่ 5 ให้ผู้เรียนสรุปและให้คำจำกัดความของสิ่งที่ต้องการสอน
เมื่อผู้เรียนได้รายการของคุณสมบัติเฉพาะของสิ่งที่ต้องการสอนแล้ว ผู้สอนให้ผู้เรียนช่วยกันเรียบเรียงให้เป็นคำนิยามหรือคำจำกัดความ
ขั้นที่ 6 ผู้สอนและผู้เรียนอภิปรายร่วมกันถึงวิธีการที่ผู้เรียนใช้ในการหาคำตอบ
ให้ผู้เรียนได้เรียนรู้เกี่ยวกับกระบวนการคิดของตัวเอง
4. ผลที่ผู้เรียนจะได้รับจากการเรียนตามรูปแบบ
เนื่องจากผู้เรียนเกิดการเรียนรู้มโนทัศน์ จากการคิด วิเคราะห์และตัวอย่างที่หลากหลาย ดังนั้นผลที่ผู้เรียนจะได้รับโดยตรงคือ จะเกิดความเข้าใจในมโนทัศน์นั้น และได้เรียนรู้ทักษะการสร้างมโนทัศน์ซึ่งสามารถนำไปใช้ในการทำความเข้าใจมโนทัศน์อื่น ๆต่อไปได้ รวมทั้งช่วยพัฒนาทักษะการใช้เหตุผลโดยการอุปนัย(inductive reasoning) อีกด้วย
8. การสอนแบบค้นพบความรู้
การสอนแบบค้นพบความรู้ (Discovery) คือ วิธีสอนที่ผู้เรียนค้นพบคำตอบหรือความรู้ด้วยตนเอง คำว่าค้นพบความรู้ไม่ได้หมายถึงว่าผู้เรียนเป็นคนค้นพบความรู้หรือคำตอบนั้นเป็นคนแรก สิ่งที่ค้นพบนั้นจะมีผู้ค้นพบมาก่อนแล้วและผู้เรียนก็ค้นพบความรู้หรือคำตอบนั้นด้วยตนเอง ไม่ใช่ทราบจากการบอกเล่าของคนอื่นหรือจากการอ่านคำตอบที่มีผู้เขียนไว้ ในการใช้วิธีสอนแบบนี้ผู้สอนจะสร้างสถานการณ์ในรูปที่ผู้เรียนจะเผชิญกับปัญหาในการแก้ปัญหานั้นผู้เรียนจะใช้ข้อมูลและปฏิบัติในลักษณะตรงกับธรรมชาติของวิชาและปัญหานั้น นั่นคือ ผู้เรียนจะศึกษาประวัติศาสตร์ในวิธีเดียวกับที่นักประวัติศาสตร์กระทำ ศึกษาชีววิทยา ในวิธีเดียวกันกับที่นักชีววิทยาศึกษา เป็นวิธีสอนที่เน้นกระบวนการซึ่งเหมาะสมสำหรับวิชาวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์แต่ก็สามารถใช้ได้กับวิชาอื่นๆ
9. วิธีการสอนตามแนวคิดของกานเย (Gagne’s Instructional Model)
1. ทฤษฎี/หลักการ/แนวคิดของรูปแบบ
กานเย (Gagne, 1985: 70-90) ได้พัฒนาทฤษฎีเงื่อนไขการเรียนรู้ (Condition of
Learning) ซึ่งมี 2 ส่วนใหญ่ ๆ คือ ทฤษฎีการเรียนรู้ และทฤษฎีการจัดการเรียนการสอน ทฤษฎีการเรียนรู้ของกานเยอธิบายว่าปรากฏการณ์การเรียนรู้มีองค์ประกอบ 3 ส่วนคือ
1) ผลการเรียนรู้หรือความสามารถด้านต่าง ๆ ของมนุษย์ ซึ่งมีอยู่ 5 ประเภทคือ
ทักษะทางปัญญา (intellectual skill ) ซึ่งประกอบด้วยการจำแนกแยกแยะ การสร้างความคิดรวบยอด การสร้างกฎ การสร้างกระบวนการหรือกฎชั้นสูง ความสามารถด้านต่อไปคือ กลวิธีในการเรียนรู้(cognitive
Strategy) ภาษาหรือคำพูด (verbal information) ทักษะการเคลื่อนไหว(motor skill) และเจตคติ(attitude)
2) กระบวนการเรียนรู้และจดจำของมนุษย์ มนุษย์มีกระบวนการจัดกระทำข้อมูล
ในสมอง ซึ่งมนุษย์จะอาศัยข้อมูลที่สะสมไว้มาพิจารณาเลือกจัดกระทำสิ่งใดสิ่งหนึ่ง และขณะที่กระบวนการจัดกระทำข้อมูลภายในสมองกำลังเกิดขึ้นเหตุการณ์ภายนอกร่างกายมนุษย์มีอิทธิพลต่อการส่งเสริมหรือการ
ยับยั้งการเรียนรู้ที่เกิดขึ้นภายในได้ ดังนั้นในการจัดการเรียนการสอน กานเยจึงได้เสนอแนะว่า ควรมีการจัดสภาพการเรียนการสอนให้เหมาะสมกับการเรียนรู้แต่ละประเภท ซึ่งมีลักษณะเฉพาะที่แตกต่างกัน และส่งเสริมกระบวนการเรียนรู้ภายในสมอง โดยจัดสภาพการณ์ภายนอกให้เอื้อต่อกระบวนการเรียนรู้ภายในของผู้เรียน
2. วัตถุประสงค์ของรูปแบบ
เพื่อช่วยให้ผู้เรียนสามารถเรียนรู้เนื้อหาสาระต่าง ๆ ได้อย่างดี รวดเร็ว และสามารถจดจำสิ่งที่เรียนได้นาน
3. กระบวนการเรียนการสอนของรูปแบบ
การเรียนการสอนตามรูปแบบของกานเย ประกอบด้วยการดำเนินการเป็นลำดับ
ขั้นตอนรวม 9 ขั้นดังนี้
ขั้นที่ 1 การกระตุ้นและดึงดูดความสนใจของผู้เรียน เป็นการช่วยให้ผู้เรียนสามารถรับสิ่งเร้า หรือสิ่งที่จะเรียนรู้ได้ดี
ขั้นที่ 2 การแจ้งวัตถุประสงค์ของการเรียนให้ผู้เรียนทราบ เป็นการช่วยให้ผู้เรียนได้รับรู้ความคาดหวัง
ขั้นที่ 3 การกระตุ้นให้ระลึกถึงความรู้เดิม เป็นการช่วยให้ผู้เรียนดึงข้อมูลเดิมที่อยู่ในหน่วยความจำระยะยาวให้มาอยู่ในหน่วยความจำเพื่อใช้งาน(working memory) ซึ่งจะช่วยให้ผู้เรียนเกิดความพร้อมในการเชื่อมโยงความรู้ใหม่กับความรู้เดิม
ขั้นที่ 4 การนำเสนอสิ่งเร้าหรือเนื้อหาสาระใหม่ ผู้สอนควรจะจัดสิ่งเร้าให้ผู้เรียนเห็นความสำคัญของสิ่งเร้านั้นอย่างชัดเจน เพื่อความสะดวกในการเลือกรับรู้ของผู้เรียน
ขั้นที่ 5 การให้แนวการเรียนรู้ หรือการจัดระบบข้อมูลให้มีความหมาย เพื่อช่วยให้ผู้เรียนสามารถทำความเข้าใจกับสาระที่เรียนได้ง่ายและเร็วขึ้น
ขั้นที่ 6 การกระตุ้นให้ผู้เรียนแสดงความสามารถ เพื่อให้ผู้เรียนมีโอกาสตอบสนองต่อสิ่งเร้าหรือสาระที่เรียน ซึ่งจะช่วยให้ทราบถึงการเรียนรู้ที่เกิดขึ้นในตัวผู้เรียน
ขั้นที่ 7 การให้ข้อมูลป้อนกลับ เป็นการให้การเสริมแรงแก่ผู้เรียน และข้อมูลที่เป็นประโยชน์กับผู้เรียน
ขั้นที่ 8 การประเมินผลการแสดงออกของผู้เรียน เพื่อช่วยให้ผู้เรียนทราบว่าตนเองสามารถบรรลุวัตถุประสงค์มากน้อยเพียงใด
ขั้นที่ 9 การส่งเสริมความคงทนและการถ่ายโอนการเรียนรู้ โดยการให้โอกาสผู้เรียนได้มีการฝึกฝนอย่างพอเพียงและในสถานการณ์ที่หลากหลาย เพื่อช่วยให้ผู้เรียนเกิดความเข้าใจที่ลึกซึ้งขึ้น และสามารถถ่ายโอนการเรียนรู้ไปสู่สถานการณ์อื่น ๆ ได้
4. ผลที่ผู้เรียนจะได้รับจากการเรียนตามรูปแบบ
เนื่องจากการเรียนการสอนตามรูปแบบนี้ จัดขึ้นให้ส่งเสริมกระบวนการเรียนรู้และจดจำของมนุษย์ ดังนั้น ผู้เรียนจะสามารถเรียนรู้สาระที่นำเสนอได้อย่างดี รวดเร็วและจดจำสิ่งที่เรียนรู้ได้นาน นอกจากนั้นผู้เรียนยังได้เพิ่มพูนทักษะในการจัดระบบข้อมูล สร้างความหมายของข้อมูล รวมทั้งการแสดงความสามารถของตนด้วย
10. การสอนแบบปฏิบัติการ
การสอนแบบปฏิบัติการ (Laboratory) คือ การสอนที่ให้ผู้เรียนกระทำกิจกรรมการเรียนภายใต้การแนะนำช่วยเหลืออย่างใกล้ชิด โดยทำการทดลองปฏิบัติฝึกการใช้ทฤษฎีโดยผ่านการสังเกตการทดลอง ภายใต้สภาพที่ควบคุม
11. การสอนโดยใช้โสตทัศนูปกรณ์
การสอนโดยใช้โสตทัศนูปกรณ์ (Audio – visual Media) หมายถึง การสอนโดยใช้อุปกรณ์การสอนต่างๆ เช่น รูปภาพ สไลด์ ภาพยนตร์ วีดิทัศน์ หุ่นจำลอง เทปบันทึกเสียง เครื่องฉายภาพข้ามศีรษะ เป็นต้น เนื่องจากโสตทัศนูปกรณ์แต่ละชนิดต่างก็มีจุดเด่น ข้อจำกัดเฉพาะตัว จึงไม่ขอกล่าวถึงจุดเด่นและข้อจำกัดโดยรวมๆ ในการพัฒนาการใช้สื่อต่างๆ
12. การสอนแบบให้ผู้เรียนเสนอรายงานในชั้นเรียน
การสอนแบบให้ผู้เรียนเสนอรายงานในชั้น คือ เทคนิคการสอนที่มอบหมายให้ผู้เรียนไปศึกษาค้นคว้าสาระความรู้ เรื่องราย ฯลฯ แล้วนำมาเสนอรายงานในชั้น โดยทั่วไปจะเสนอด้วยวาจา ผู้สอนอาจมอบหมายให้ผู้เรียนไปศึกษาค้นคว้าเป็นรายบุคคลหรือกลุ่มก็ได้
13.การสอนโดยใช้คำถาม
การสอนโดยใช้คำถามเป็นการสอนที่ผู้สอนป้อนคำถามให้ผู้เรียนตอบ อาจตอบเป็นรายบุคคลหรือตอบเป็นกลุ่มย่อย หรือตอบทั้งชั้น การตอบใช้วิธีพูดตอบผู้สอนจะพิจารณาคำตอบแล้วให้ข้อมูลสะท้อนกลับ หรือถามคนอื่นหรือกลุ่มอื่นจนกว่าจะได้คำตอบที่ถูกต้องเหมาะสม
เทคนิคการสอนหลากหลายวิธีดังกล่าวมาแล้ว เป็นเพียงแนวทางการสอนที่มีผู้ค้นคิดขึ้น ซึ่งผู้สอนเองจะต้องทำความเข้าใจ และเลือกใช้ ประยุกต์ใช้ ปรับปรุงและพัฒนาให้เหมาะสมกับเนื้อหาสาระของการสอน ผู้เรียน วัตถุประสงค์เชิงพฤติกรรม เวลา เครื่องมือ บรรยากาศ สถานที่ และข้อจำกัดต่างๆ รวมถึงความถนัดของผู้สอน แต่ทั้งนี้ในการเลือกใช้ที่ดีควรจะผสมผสานหลายเทคนิคที่เหมาะสมเข้าด้วยกัน จะก่อให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุดได้
14. เทคนิคการใช้ผังกราฟิก ( graphic organizers ) ประเภท
ผังความคิด ( A Mind MAP ) เป็นผังที่แสดงความสัมพันธ์ของสาระหรือความคิดต่าง ๆ ให้เห็นเป็นโครงสร้างในภาพรวม โดยใช้ เส้น คำ ระยะห่างจากจุดศูนย์กลาง สี เครื่องหมาย รูปทรง เรขาคณิตและภาพ แสดงความหมายและความเชื่อมโยงของความคิดหรือสาระนั้น ๆ โดยมีขั้นตอนหลัก ๆ ในการทำดังนี้
แผนที่ความคิด บางทีเรียกว่า( Webbing semanticNet working, Momory mapping)
โทนี่ บูซานได้พัฒนาแผนที่ความคิดขึ้น โดย บูรณาการ การทำงานของสมองด้านซ้ายและด้านขวา สมองด้านซ้าย จะทำหน้าที่ในการวิเคราะห์คำ สัญลักษณ์ ตรรกวิทยา ภาษา ระบบ ลำดับ ความเป็นเหตุผล
สมองด้านขวา จำทำหน้าที่ในการสังเคราะห์รูปแบบ สี รูปร่าง วิเคราะห์คิดสร้างสรรค์ จินตนาการ ความงาม ศิลปะ
แผนที่ความคิดไม่เพียงแต่จะใช้คำต่าง ๆ เท่านั้น แต่ยังใช้สัญลักษณ์และภาพต่าง ๆ ด้วย นอกจากนี้แผนที่ความคิดยังเป็นกระบวนการจัดระบบการจำและการจัดกระทำข้อมูล เป็นการ บูรณาการภาพ สี คำศัพท์ และเชื่อมโยงกระบวนการเรียนรู้แบบมีส่วนร่วมกับแผนที่ความคิด
บุคคลทั่วไป –ใช้ในชีวิตส่วนตัว ในการวางแผน การตัดสินใจ
— ชีวิตการทำงาน การช่วยจำ การแก้ปัญหา การนนำเสนอ การเขียนหนังสือ
ครูผู้สอน — การวางแผนการจัดการเรียนรู้
— การจัดกิจกรรมต่าง ๆ ในการเรียนรู้
นักเรียน — ช่วยในการคิด จำ บันทึก เสนอข้อมูล
— ทำให้เข้าใจเนื้อหา
— ช่วยแก้ปัญหาอย่างเป็นรูปธรรม
— ทำให้การเรียนรู้เป็นเรื่องสนุกสนาน มีชีวิตชีวา
หลักการทำ Mind Map
1. เริ่มต้นด้วยภาพสีตรงกึ่งกลางหน้ากระดาษ
2. ใช้ภาพให้มากที่สุด ใช้ภาพก่อนคำสำคัญ ( Key word ) หรือรหัส เป็นการช่วยการทำงานของสมอง ดึงดูดสายตาและช่วยจำ
3. เขียนคำสำคัญตัวใหญ่ อ่านง่าย ชัดเจน ช่วยให้สามารถประหยัดเวลาเมื่อย้อนกลับมาอ่านอีกครั้ง
4. เขียนคำสำคัญเหนือเส้น และแต่ละเส้นต้องเชื่อมต่อกับเส้นอื่น ๆ
5. คำสำคัญควรมีลักษณะเป็น “ หน่วย “ คำสำคัญ 1 คำต่อ 1 เส้น
6. ระบายสีให้ทั่ว Mind Map เพราะสีช่วยยกระดับความจำ เพลินตา กระตุ้นสมองซีกขวา
7. เพื่อให้เกิดความคิดสร้างสรรค์ใหม่ ๆ ควรปล่อยให้หัวคิดมีอิสระมากที่สุด
ใช้รูปทรงเรขาคณิต แสดงขอบเขตของคำที่มีลักษณะของคำใกล้เคียงกัน
ใช้ภาพ รูปสามมิติ เพื่อให้โดดเด่น
การระดมสมอง เป็นการนำความรู้ที่อยู่แล้วออกมาใช้ ทำให้ผู้เรียนมีความรู้สึกอิสระในทางความคิด ปล่อยจิตใจให้มีอำนาจเหนือสมอง ไม่ต้องกังวลว่าสิ่งที่คิดออกมานี้สัมพันธ์กับประเด็นที่ตั้งหรือไม่
การระดมพลังสมองใช้ได้ทั้งงานเดี่ยวและงานกลุ่ม
งานเดี่ยว ให้ผู้เรียนใช้เวลาประมาณ 5 นาที แล้วเขียนหัวข้อ เรื่องปัญหาหรือประเด็นที่มอบหมายให้ลงในแผ่นกระดาษ จากนั้นเขียนทุกสิ่งทุกอย่างที่ผู้เขียนทราบ เกี่ยวกับสิ่งนั้นในขณะนั้น ให้เร็วที่สุด
งานกลุ่ม ต้องให้สมาชิกทุกคนในกลุ่มมีโอกาสคิดอย่างอิสระที่สุดโดยประวิงการประเมินความคิดออกไปไม่มีการวิพากษ์ วิจารณ์ ในระหว่างที่มีการคิดจุดประสงค์เพื่อนำไปสู่ การที่สามารถแก้ปัญหาได้
15. การสอนแบบโครงการ (The Project Approach)
หลักการ
โครงการ คือการสืบค้นหาข้อมูลอย่างลึกตามหัวเรื่องที่เด็กสนใจควรแก่การเรียนรู้ โดยปกติการสืบค้นจะทําโดยเด็กกลุ่มเล็กๆ ที่อยู่ในชั้นเรียน หรือเด็กทั้งชั้นร่วมกัน หรือบางโอกาสอาจเป็นเพียงเด็กคนใดคนหนึ่งเท่านั้น จุดเด่นของโครงการคือความพยายามที่จะค้นหาคําตอบจากคําถามที่เกี่ยวกับหัวเรื่อง ไม่ว่าคําถามนั้นจะมาจากเด็ก จากครูหรือจากเด็กและครูร่วมกันก็ตาม จุดประสงค์ของโครงการคือการเรียนรู้เกี่ยวกับหัวเรื่อง มากกว่าการเสาะแสวงหาคําตอบที่ถูกต้องเพื่อตอบคําถามที่ครูเป็นผู้ถาม(Katz,1994)
การทําโครงการไม่สามารถทดแทนหลักสูตรทั้งหมดได้ สําหรับเด็กปฐมวัยถือเป็นส่วนที่เสริมเพิ่มเติมให้สมบูรณ์อย่างไม่เป็นทางการเพียงส่วนหนึ่งของหลักสูตรเท่านั้น งานโครงการจะไม่แยกเป็นรายวิชา เช่น ภาษาไทย คณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ ฯลฯ แต่จะบูรณาการทุกวิชาเข้าด้วยกัน โดยเฉพาะเด็กปฐมวัยต้องการครูเป็นผู้ชี้แนะ และเป็นที่ปรึกษาในการทําโครงการ
ส่วนเวลาที่ใช้ในการทํางานแต่ละโครงการนั้นอาจใช้เวลาหลายวัน หลายสัปดาห์ หรือหนึ่งสัปดาห์ขึ้นอยู่กับหัวเรื่อง อายุ และความสนใจของเด็ก (Katz, 1994)
กระบวนการ
โครงการถือเป็นตัวอย่างที่ดีของการเรียนรู้ที่เต็มไปด้วยความหมายเหมาะกับพัฒนาการเด็ก เป็นการศึกษาอย่างลึกในช่วงเวลาที่ขยายได้ตามความสนใจของเด็กแต่ละคน แต่ละกลุ่มย่อย หรือแต่ละชั้นและตามแต่หัวเรื่องที่ต้องการศึกษา ในหนังสือ Project Approach “A Practical Guide for Teachers” ของ Sylvia C. Chard (1992,1994) ได้กล่าวถึงลักษณะโครงสร้างของการปฏิบัติโครงการไว้ 5 ข้อ คือ
1. การอภิปรายกลุ่ม ในงานโครงการครูสามารถแนะนําการเรียนรู้ให้เด็ก และช่วยให้เด็กแต่ละคนมีโอกาสแลกเปลี่ยนสิ่งที่ตนทํากับเพื่อน
การพบประสนทนากันในกลุ่มย่อย หรือกลุ่มใหญ่ทั้งชั้น ทําให้เด็กมีโอกาสที่จะอภิปรายแลกเปลี่ยนความคิดเห็น ซึ่งกันและกัน
2. การศึกษานอกสถานที่ สําหรับเด็กปฐมวัยไม่จําเป็นต้องเสียเงินเป็นจํานวนมาก เพื่อพาเด็กไปยังสถานที่ไกลๆ ประสบการณ์ในระยะแรกครูอาจพาไปทัศนศึกษานอกห้องเรียน เรียนรู้สิ่งก่อสร้างต่างๆที่อยู่รอบบริเวณโรงเรียน เช่น ร้านค้า ถนนหนทาง ป้ายสัญญาณ งานบริการต่างๆ ฯลฯ จะช่วยให้เด็กเข้าโลกที่แวดล้อม มีโอกาสพบปะกับบุคคลที่มีความรู้เชี่ยวชาญในหัวเรื่องที่เด็กสนใจ ซึ่งถือเป็นประสบการณ์เรียนรู้ขั้นแรกของงานศึกษาค้นคว้า
3. การนําเสนอประสบการณ์เดิม เด็กสามารถที่จะทบทวนประสบการณ์เดิมในหัวเรื่องที่ตนสนใจ มีการอภิปราย แสดงความคิดเห็นในประสบการณ์ที่เหมือนหรือแตกต่างกับเพื่อน รวมทั้งแสดงคําถามที่ต้องการสืบค้นในหัวเรื่องนั้นๆ นอกจากนี้เด็กแต่ละคนสามารถที่จะเสนอประสบการณ์ที่ตนมีให้เพื่อนในชั้นได้รู้ด้วยวิธีการอันหลากหลายเสมือนเป็นการพัฒนาทักษะเบื้องต้น ไม่ว่าจะเป็นการเขียนภาพ การเขียน การใช้สัญลักษณ์ทางคณิตศาสตร์ การเล่นบทบาทสมมติ และการก่อสร้างแบบต่างๆ
4. การสืบค้น งานโครงการเปิดกว้างให้ใช้แหล่งค้นคว้าข้อมูลอย่างหลากหลายตามหัวเรื่องที่สนใจเด็กสามารถสัมภาษณ์พ่อแม่ ผู้ปกครองของตนเอง บุคคลในครอบครัว เพื่อนนอกโรงเรียน สามารถหาคําตอบของตนด้วยการศึกษานอกสถานที่ สัมภาษณ์วิทยากรท้องถิ่นที่มีความรอบรู้ในหัวเรื่อง อาจสํารวจวิเคราะห์วัตถุสิ่งของด้วยตนเอง เขียนโครงร่าง หรือใช้แว่นขยายส่องดูวัตถุต่างๆ หรืออาจใช้หนังสือในชั้นเรียนหรือในห้องสมุดทําการค้นคว้า
5. การจัดแสดง การจัดแสดงทําได้หลายรูปแบบ อาจใช้ฝาผนังหรือป้ายจัดแสดงงานของเด็ก เป็นการแลกเปลี่ยนความคิด ความรู้ที่ได้จากการสืบค้นแก่เพื่อนในชั้น ครูสามารถให้เด็กในชั้นได้รับทราบความก้าวหน้าในการสืบค้นโดยจัดให้มีการอภิปราย หรือการจัดแสดง ทั้งจะเป็นโอกาสให้เด็กและครูได้เล่าเรื่องงานโครงการที่ทําแก่ผู้มาเยี่ยมเยียนโรงเรียนอีกด้วย
16. การสอนแบบมอนเตสซอรี่
หลักการ
Morrison (998 : 96 – 1 0 ) และบุคคลต่างๆ ได้สังเคราะห์แนวคิดและแนวปฏิบัติของมอนเตสซอรี่ สรุปเป็นหลักการของการสอนได้ 5 ประเด็น ดังนี้
1. เด็กจะต้องได้รับการยอมรับนับถือ (Respect for the child)
เพราะเด็กแต่ละคนมีลักษณะเฉพาะของเขา ดังนั้นการจัดการศึกษาให้แก่เด็กควรจะเหมาะกับเด็กแต่ละคน มอนเตสซอรี่ยืนยันในความเชื่อของตนเองที่ว่า ชีวิตของเด็กต้องได้รับการดูแลที่แตกต่างไปจากผู้ใหญ่ไม่จัดการศึกษาให้แก่เด็กตามที่ผู้ใหญ่ต้องการให้เป็น โดยนักการศึกษาและผู้ปกครองจะแสดงความเคารพนับถือเด็กได้หลายวิถี ทางช่วยให้เด็กทำงานได้ด้วยตนเอง ส่งเสริมความเป็นอิสระให้แก่เด็กและเคารพความต้องการของเด็กแต่ละคน
2. เด็กมีจิตที่ซึมซาบได้ (The Absorbent Mind)
มอนเตสซอรี่เชื่อว่า เด็กแต่ละคนไม่ได้รับการศึกษามาจากคนอื่น แต่เด็กคือผู้ให้การศึกษาแก่ตนเอง เราใช้จิตในการแสวงหาความรู้เด็กซึมซาบข้อมูลต่างๆ เข้าไปในจิตของตนเองได้ กระบวนนี้เห็นได้ชัดจากการที่เด็กเรียนภาษาแม่ได้เอง
พัฒนาการของจิตที่ซึมซาบได้มี 2 ระดับคือ
อายุตั้งแต่แรกเกิดถึง 3 ปีเป็นช่วงที่จิตซึมซาบโดยไม่รู้สึกตัว (Unconscious absorbent mind) เป็นการพัฒนาประสาทสัมผัสของการมองเห็น (seeing) การได้ยิน (hearing) การชิมรส (tasting) การดมกลิ่น (smelling) และการสัมผัส (touching) เด็กจะซึมซาบทุกสิ่งทุกอย่างรอบตัว
อายุ 3-6 ปี เป็นช่วงที่จิตซึมซาบโดยรู้สึกตัว (conscious absorbent mind) โดยเลือกสิ่งที่ประทับใจจากสิ่งแวดล้อม และพัฒนาประสาทสัมผัสต่างๆ การเลือกสรรมีความละเอียดลออเพิ่มขึ้น ในช่วงที่จิตซึมซาบโดยไม่รู้สึกตัว เด็กจะเห็นและซึมซาบสีโดยไม่ได้แยกแยะความแตกต่างของสีเหล่านี้เมื่ออายุ 3 ปีขึ้นไป เด็กจะพัฒนาความสามารถในการที่จะแยกแยะ จับคู่ และเรียงลำดับสีได้
มอนเตสซอรี่ ได้ท้าทายให้ครูคิดเกี่ยวกับเรื่องจิตที่ซึมซาบได้ของเด็ก ว่าสิ่งที่เด็กเรียนรู้ส่วนใหญ่จะขึ้นอยู่กับคนที่อยู่รอบตัว สิ่งที่คนเหล่านั้นพูดและทำ และปฏิกิริยาของคนเหล่านั้น
3. ช่วงเวลาหลักของชีวิต (Sensitive Periods)
วัย 3-6 ปีช่วงเวลานี้เด็กจะรับรู้ได้ไวและเรียนรู้ทักษะเฉพาะอย่างได้ดี ครูจึงต้องสังเกตเด็ก เพื่อจัดการเรียนการสอนให้แก่เด็กได้สมบูรณ์ที่สุด ถึงแม้เด็กจะอยู่ในช่วงเวลาหลักเหมือนกัน แต่ขั้นตอนและจังหวะเวลาของเด็กแต่ละคนจะแตกต่างกัน ดังนั้นครูของมอนเตสซอรี ่หรือผู้ปกครองจําเป็นจะต้องหาช่วงเวลาของเด็กจัดให้เด็กประสบความสําเร็จได้สูงสุด การสังเกตจึงสําคัญสําหรับครูและผู้ปกครอง นักการศึกษาหลายคนเชื่อว่าข้อมูลที่ได้จากการสังเกตถูกต้องมากกว่าการใช้แบบสอบ
4. การตระเตรียมสิ่งแวดล้อม (The Prepared Environment)
เด็กจะเรียนรู้ได้ดี ในสิ่งแวดล้อมที่ได้ตระเตรียมเอาไว้ในสถานที่ใดก็ตาม ไม่ว่าจะเป็นห้องเรียน ห้องที่บ้าน ห้องเด็กเล็ก หรือสนามเด็กเล่น จุดมุ่งหมายเพียงเพื่อให้เด็กมีอิสระจากการควบคุมของผู้ใหญ่เป็นสถานที่ที่เด็กจะได้ทําสิ่งต่างๆ เพื่อตนเอง ห้องเรียนในอุดมคติของมอนเตสซอรี่ คือเด็กเป็นศูนย์กลางและมีส่วนร่วมในการเรียน
ในสิ่งแวดล้อมที่ตระเตรียมไว้ เด็กจะเรียนได้ตามความต้องการตัดสินใจเลือกอุปกรณ์ที่ต้องทํา มอนเตสซอรี่จะจัดโต๊ะ เก้าอี้ขนาดเด็กให้เด็กได้ทํางานเป็นรายบุคคล เป็นกลุ่มในห้องเรียน มีการทํางานบนพื้น มอนเตสซอรี่เห็นว่าโต๊ะครูไม่จําเป็น เพราะครูต้องไปทํางานกับเด็กอยู่แล้ว เธอได้เสนอแนะให้จัดเฟอร์นิเจอร์ทุกอย่างเป็นขนาดเด็ก กระดานดําขนาดต่ำพอที่เด็กจะใช้ พื้นที่ภายนอกซึ่งเด็กสามารถทําสวนหรือทํากิจกรรมกลางแจ้งได้
โดยเฉพาะห้องเรียน ต้องเป็นที่ที่เด็กสามารถทําสิ่งต่างๆ ได้ เล่นอุปกรณ์ที่วางไว้อย่างมีจุดมุ่งหมายและให้การศึกษาแก่ตน อิสระเป็นลักษณะที่สําคัญของการตระเตรียมสิ่งแวดล้อม เมื่อเด็กมีอิสระภายในสิ่งแวดล้อม เลือกทําอุปกรณ์ด้วยตนเอง เขาจะซึมซาบสิ่งต่างๆจากตรงนั้น
ผู้ใหญ่มักจะกลัวว่าเด็กจะใช้อิสระไม่เป็น เด็กจะมีอิสระในการใช้อุปกรณ์ที่จัดไว้ ภายใต้กรอบในการเลือกที่ครูได้จัดให้การเลือก (Choice) คือผลผลิตของวินัยและการควบคุมตนเองที่จะได้รู้จากสิ่งแวดล้อม
5. การศึกษาด้วยตนเอง (Self-or Auto Education)
มอนเตสซอรี่เน้นความสนใจไปที่ความสามารถของมนุษย์ ศิลปะของการสอนรวมถึงการตระเตรียมสิ่งแวดล้อม เพื่อเด็กจะได้เข้าไปทํางานและเรียนรู้ด้วยตนเอง เด็กสามารถเรียนรู้ได้ด้วยตนเอง จากการที่เด็กมีอิสระในสิ่งแวดล้อมที่จัดเตรียมไว้อย่างสมบูรณ์การมีอิสระนี้มอนเตสซอรี่กล่าวว่า ไม่ใช่สัญลักษณืของเสรีภาพเท่านั้น แต่หมายถึงเส้นทางไปสู่การศึกษา เด็กมีสิทธิ์ที่จะเรียนรู้ระเบียบวินัยของชีวิต ได้มีโอกาสแก้ไขข้อบกพร่องของตนเอง สามารถควบคุมการเคลื่อนไหวของตนเองได้
17. การจัดการเรียนการสอนแบบโครงงาน
แนวคิด
การสอนแบบโครงงานเป็นการเปิดโอกาสให้ผู้เรียน เรียนรู้เรื่องใดเรื่องหนึ่งตามความสนใจของผู้เรียนอย่างลุ่มลึก โดยผ่านกระบวนการหลักคือ กระบวนการแก้ปัญหา ผู้เรียนจะเป็นผู้ลงมือปฏิบัติเพื่อค้นหาคำตอบด้วยตนเอง จึงเป็นการเรียนรู้จากการได้มีประสบการณ์ตรงจากแหล่งเรียนรู้
วัตถุประสงค์
การจัดการเรียนการสอนแบบโครงงานมีวัตถุประสงค์เพื่อให้นักเรียน
1. มีประสบการณ์โดยตรง
2. ได้ทำการทดลองและพิสูจน์สิ่งต่าง ๆ ด้วยตนเอง
3. รู้จักการทำงานอย่างมีระบบ มีขั้นตอน
4. ฝึกการเป็นผู้นำและผู้ตามที่ดี
5. ได้เรียนรู้วิธีการแก้ปัญหา
6. ได้รู้จักวิธีการต่าง ๆ ในการแก้ปัญหา
7. ฝึกวิเคราะห์ และประเมินตนเอง
ประเภทของโครงงาน
1. โครงงานแบบสำรวจ
2. โครงงานแบบทดลอง
3. โครงงานสิ่งประดิษฐ์
4. โครงงานทฤษฎี
รูปแบบการจัดทำโครงงาน
1. ชื่อโครงงาน
2. คณะทำงาน
3. ที่ปรึกษา
4. แนวคิด / ที่มา / ความสำคัญ
5. วัตถุประสงค์ / จุดมุ่งหมาย
6. ขั้นตอนการดำเนินงาน / วิธีการศึกษา
7. แหล่ง / สถานศึกษา (ถ้ามี)
8. วัสดุ อุปกรณ์
9. งบประมาณ
10. ระยะเวลาการดำเนินงาน
11. ประโยชน์ที่คาดว่าจะได้รับ
การประเมินผลการทำโครงงาน
ครูผู้สอนจะเป็นผู้ประเมินการทำโครงงานของนักเรียนแต่ละกลุ่ม โดยใช้แบบประเมินแผนผังโครงงานพิจารณาตามรายละเอียดดังนี้
1. ชื่อเรื่องแสดงถึงความคิดริเริ่มสร้างสรรค์
2. ชื่อเรื่องมีความสัมพันธ์กับเนื้อหาคำถามมีการกระตุ้นให้นักเรียนเกิดความคิด
3. สมมติฐานมีการแสดงถึงพื้นฐานความรู้เดิม
4. วิธีการ เครื่องมือที่ใช้ในการศึกษา เหมาะสมสอดคล้องกับจุดมุ่งหมายและเนื้อหา
5. แหล่งศึกษาสามารถค้นคว้าคำตอบได้
6. วิธีการนำเสนอชัดเจน เหมาะสมกับเนื้อหาและเวลา
18. นวัตกรรมกระบวนการกลุ่มแบบประเมินผลการเรียนรู้ที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ
ขั้นที่ 1 วางแผนการเรียนรู้
1. แบ่งกลุ่มนักเรียนออกเป็นกลุ่ม ๆ กลุ่มละ 6 – 7 คน โดยความสมัครใจ
2. แต่ละกลุ่มเลือกประธาน รองประธาน กรรมการ และเลขานุการ
3. สมาชิกช่วยกันตั้งชื่อกลุ่ม
4. ประธานกลุ่มแต่ละกลุ่ม แนะนำสมาชิกในกลุ่มให้เพื่อน ๆ ในห้องได้รู้จัก
5. สำรวจสภาพปัญหาและความต้องการของนักเรียน
ขั้นที่ 2 ลงมือปฏิบัติ
ในการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ นักเรียนจะเป็นผู้เรียนรู้และผู้เรียน ส่วนครูเป็นพี่เลี้ยงให้คำปรึกษาเท่านั้น
1. ในการจัดการเรียนการสอนของครู ครูจะส่งเสริมให้นักเรียนสามารถเรียนรู้ได้ด้วยตนเองกล้าคิด กล้าแสดงออก โดยจะ มอบหมายให้นักเรียนแต่ละกลุ่มไปศึกษาค้นคว้าทำรายงาน ทำโครงงาน อภิปรายหน้าชั้น และฝึกทักษะปฏิบัติ
2. การมอบหมายงาน ครูผู้สอนจะเรียกประธานกลุ่มแต่ละกลุ่มไปประชุมเพื่อมอบหมายงาน
3. ประธานกลุ่มแต่ละกลุ่มเรียกสมาชิกในกลุ่มประชุม เพื่อแจ้งเรื่องที่ต้องปฏิบัติ และมอบหมายงาน เลขาฯกลุ่มจดบันทึก การประชุมตามระเบียบวาระการประชุม ส่งครูผู้สอน
4. แต่ละกลุ่มนำเสนอผลงานหน้าชั้นที่ได้ไปศึกษาค้นคว้า หรือจัดทำขึ้น เช่น การทำโครงงานหรือผลิตสื่อต่าง ๆ ประกอบ การเรียนการสอน เช่น แผนที่โมเดลจากินน้ำมัน
ขั้นที่ 3 ตรวจสอบผลงาน
1. การประเมินผลสมาชิกในกลุ่ม ประธานกลุ่มแต่ละกลุ่มจะเป็นผู้ประเมิน ส่วนประธานกลุ่มครูผู้สอนจะเป็นผู้ประเมินเอง ดังนี้
1.1 ประเมินจิตพิสัย(คุณลักษณะ) เดือนละ 1 ครั้ง
1.2 ประเมินพฤติกรรมในการทำงานกลุ่ม เช่น การทำรายงาน การทำโครงงาน การฝึกทักษะปฏิบัติ เป็นต้น
1.3 ประเมินความรับผิดชอบในการจัดกิจกรรม เช่น การทำเวร การจัดป้ายนิเทศหรืองานอื่น ๆที่ครูผู้สอนมอบหมาย
2 การประเมินผลงานกลุ่ม เช่น การออกไปอภิปราย การทำรายงาน การทำโครงงาน การฝึกทักษะปฏิบัติ เป็นต้น ผู้ที่ ประเมิน ได้แก่ นักเรียนกลุ่มต่าง ๆ ที่ไม่ใช่เจ้าของผลงาน แล้วนำคะแนนที่ได้มาเฉลี่ย
3. เปิดโอกาสให้สมาชิกกลุ่มต่าง ๆ ได้วิจารณ์ผลงานของเพื่อน
4. นักเรียนประเมินครูผู้สอน เดือนละ 1 ครั้ง โดยใช้แบบสอบถาม
4.1 ด้านการจัดการเรียนการสอน
4.2 ด้านพฤติกรรม(คุณลักษณะ)
4. ปรับปรุงแก้ไข
1. สมาชิกแต่ละกลุ่มนำผลการประเมินและการวิจารณ์ของเพื่อกลุ่มต่าง ๆ มาปรับปรุงและพัฒนางานให้ดีขึ้น
2. ครูปรับปรุงและพัฒนาด้านการจัดการเรียนการสอนและพฤติกรรม
19. การเรียนการสอนแบบบูรณาการ
แนวคิด
การเรียนการสอนแบบบูรณาการ เป็นการจัดการเรียนรู้โดยใช้ความรู้ ความเข้าใจ และทักษะในวิชาต่าง ๆ มากกว่าหนึ่งวิชาขึ้นไป เพื่อแก้ปัญหาหรือแสวงหาความรู้ ความเข้าใจเรื่องใดเรื่องหนึ่งทำให้ผู้เรียนได้ประยุกต์ใช้ความคิด แระสบการณ์ ความสามารถ และทักษะต่าง ๆ ในเวลาเดียวกัน ทำให้ได้รับความรู้
ความเข้าใจลักษณะองค์รวม
รูปแบบการบูรณาการ
1. การบูรณาการภายในวิชา เป็นการเชื่อมโยงการสอนระหว่างเนื้อหาวิชาในกลุ่มประสบการณ์หรือรายวิชาเดียวกันกันเข้าด้วยกัน
2. บูรณาการระหว่างวิชา มี 4 รูปแบบ คือ
2.1 การบูรณาการแบบสอดแทรก เป็นการสอนในลักษณะที่ครูผู้สอนในวิชาหนึ่งสอดแทรกเนื้อหาวิชา
อื่น ๆ ในการสอนของตน
2.2 การสอนบูรณาการแบบคู่ขนาน เป็นการสอนโดยครูตั้งแต่สองคนขึ้นไป วางแผนการสอนร่วมกันโดยมุ่งสอนหัวเรื่องหรือความคิดรวบยอดหรือปัญหาเดียวกันแต่สอนต่างวิชาและต่างคนต่างสอน
2.3 การสอนแบบบูรณาการแบบสหวิทยาการ เป็นการสอนลักษณะเดียวกับการสอนบูรณาการแบบคู่ขนาน แต่มีการมอบหมายงานหรือโครงงานร่วมกัน
2.4 การสอนบูรณาการแบบข้ามวิชา หรือสอนเป็นคณะ เป็นการสอนที่ครูผู้สอนวิชาต่าง ๆ ร่วมกันสอนเป็นคณะหรือเป็นทีม มีการวางแผน ปรึกษาหารือร่วมกันโดยกำหนดหัวเรื่อง ความคิดรวบยอด หรือปัญหาร่วมกัน แล้วร่วมกันสอนนักเรียนกลุ่มเดียวกัน
ขั้นตอนการจัดการเรียนการสอนแบบบูรณาการ
1. กำหนดเรื่องที่จะสอน โดยการศึกษาหลักสูตรและวิเคราะห์ความสัมพันธ์ของเนื้อหาที่มีความเกี่ยวข้องกัน เพื่อนำมากำหนดเป็นเรื่องหรือปัญหาหรือความคิดรวบยอดในการสอน
2. กำหนดจุดประสงค์การเรียนรู้ โดยการศึกษาจุดประสงค์ของวิชาหลักและวิชารองที่จะนำมาบูรณาการ และกำหนดจุดประสงค์การเรียนรู้ในการสอน สำหรับหัวเรื่องนั้น ๆ เพื่อการวัดและประเมินผล
3. กำหนดเนื้อหาย่อย เป็นการกำหนดเนื้อหาหรือหัวเรื่องย่อย ๆ สำหรับการเรียนการสอนให้สนองจุดประสงค์การเรียนรู้ที่กำหนดไว้ 4. วางแผนการสอน เป็นการกำหนดรายละเอียดของการสอนตั้งแต่ต้นจนจบ โดยการเขียนแผนการสอน/แผนการจัดการเรียนรู้ ซึ่งประกอบด้วยองค์ประกอบสำคัญเช่นเดียวกับแผนการสอนทั่วไป คือ สาระสำคัญ จุดประสงค์ เนื้อหา กิจกรรมการเรียนการสอน การ
วัดและประเมินผล
5. ปฏิบัติการสอน เป็นการจัดกิจกรรมการเรียนการสอนที่กำหนดไว้ในแผนการสอน รวมทั้งมีการสังเกตพฤติกรรมการเรียนของนักเรียน ความสอดคล้องสัมพันธ์กันของการจัดกิจกรรมการเรียนการสอน ผลสำเร็จของการสอนตามจุดประสงค์ ฯลฯ โดยมีการบันทึกจุดเด่น จุดด้อย ไว้สำหรับการปรับปรุง หรือพัฒนาให้ดียิ่งขึ้น
6. การประเมินปรับปรุงและพัฒนาการสอน เป็นการนำผลที่ได้บันทึก รวบรวมไว้ในขณะปฏิบัติการสอน มาวิเคราะห์เพื่อปรับปรุงและพัฒนาแผนการสอนแบบบูรณาการการให้มีความสมบูรณ์ยิ่งขึ้น
20. วิธีสอนแบบขั้นทั้ง 4 ของอริยสัจสี่ (ศ. ดร. สาโรช บัวศรี)
ขั้นตอนวิธีสอนแบบขั้นทั้ง 4 ของอริยสัจสี่
1. ขั้นกำหนดปัญหา……… (ขั้นทุกข์)
– ศึกษาปัญหา
– กำหนดขอบเขตของปัญหาที่จะแก้
2. ขั้นตั้งสมมุติฐาน……….. (สมุทัย)
– พิจารณาสาเหตุของปัญหา
– จะต้องแก้ปัญหาที่สาเหตุ
– พยายามทำอะไรหลาย ๆ อย่างเพื่อแก้ปัญหาให้ตรงสาเหตุ
3. ขั้นการทดลองและเก็บข้อมูล….(นิโรธ)
– ทดลองใช้วิธีการต่าง ๆ
– ทดลองได้ผลประการใดบันทึกข้อมูลไว้
4. ขั้นสรุปข้อมูลและสรุปผล……. (มรรค)
– วิเคราะห์เปรียบเทียบ
– สรุปผลและแนวทางเพื่อปฏิบัติ
21. การจัดการเรียนการสอนแบบประสบการณ์ (Experiential Learning )
การจัดการเรียนการสอนแบบประสบการณ์ หมายถึง การเรียนรู้จากประสบการณ์หรือการเรียนรู้จากการได้ลงมือปฏิบัติจริง โดยผู้เรียนที่มีโอกาสได้รับประสบการณ์แล้วได้รับการกระตุ้นให้สะท้อนสิ่งต่างๆ ที่ได้จากประสบการออกมาเพื่อ พัฒนาทักษะใหม่ๆ หรือวิธีคิดใหม่ๆ
รูปแบบการจัดกระบวนการการเรียนรู้ การสอนแบบกิจกรรมประสบการณ์
เทคนิคการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ มี 5 ขั้นตอน ดังนี้
1. ขั้นประสบการณ์ Experiencing เป็นขั้นลงมือทำกิจกรรมจากสภาพจริง เช่น กิจกรรมการสำรวจราคาสินค้าในตลาด การสัมภาษณ์ หรือการปฏิบัติการต่างๆ
2. ขั้นนำเสนอและแลกเปลี่ยนประสบการณ์ Publishing เป็นขั้นของการพูด การเขียน เช่นการนำข้อมูลที่ได้จากการเก็บรวบรวม มานำเสนอในรูปแบบการพูด หรือการเขียนเป็นตาราง เป็นกราฟหรือรูปแบบอื่นๆ
3. ขั้นอภิปรายผล Discussing เป็นขั้นของการอภิปรายซักถามเพื่อความเข้าใจที่แจ่มชัดและให้ได้แนวคิดในการประยุกต์ใช้ ในขั้นนี้ทั้งผู้เรียนและผู้สอนอาจใช้การซักถามในการอภิปรายร่วมกัน
4. ขั้นสรุปพาดพิง Generalizing เป็นขั้นสรุปผลการเรียนรู้จากทั้ง 3 ขั้นข้างต้น โดยสรุปพาดพิงสู่หลักการหรือมุมมองแบบแผนที่กว้างขึ้นอาจร่วมกันสรุปหรือลงมือกระทำ
ขั้นประยุกต์ใช้ Applying เป็นขั้นของการนำสิ่งที่ได้จากการเรียนรู้ไปสู่การประยุกต์ใช้ในชีวิตประจำวันซึ่งอาจทำในรูปแบบของโครงการ การทดลอง การปรับใช้ในชีวิตประจำวัน การศึกษาค้นคว้าวิจัย เป็นวงจรต่อเนื่องต่อไป
อ้างอิง: https://blog.nsru.ac.th/60111806048/4883